บ้านอ่าวคราม เป็นชุมชนประมงขนาดเล็กตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติโอบล้อมไปด้วยต้นไม้ ภูเขา และทะเล เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.สวี จ.ชุมพร ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพชาวประมงริมทะเล หากุ้ง ปลา ปลาหมึก ปู เพื่อสืบสานภูมิปัญญาพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์กับการร่วมรักษาทรัพยากรธรรมชาติของชายฝั่งให้ดำรงอยู่ต่อไป จึงได้มีการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวรูปแบบโฮมสเตย์ขึ้นถึง 2 แห่ง คือ อ่าวครามโฮมสเตย์ และแดนโดมโฮมสเตย์ ดื่มด่ำไปกับบรรยากาศของการพักผ่อนแบบโฮมสเตย์ริมทะเล ที่มีลมพัดเย็นสบายตลอดทั้งวัน
กิจกรรมที่น่าสนใจในตอนกลางคืนคือ กิจกรรมชมการยกบาม หรืออวนหมึกที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนอ่าวคราม ภาพวิวหน้าบ้านที่มองออกไปจากที่พักหนึ่งในนั้นก็คือเกาะกุลา ซึ่งเราสามารถนั่งเรือออกไปเที่ยวชมได้
เกาะกุลา อยู่ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพรเป็นเกาะที่ใช้เวลาเดินทางประมาณ 20 นาทีจะได้เจอกับโรงอนุบาลเต่าทะเล ซึ่งเป็นสัตว์หายาก ฟังเรื่องราวการเจริญเติบโตการดำรงอยู่ของเต่าทะเล และการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล จากนั้นออกมาพายเรือชมวิวทะเล สำหรับใครที่อยากใกล้ชิดธรรมชาติขึ้นไปอีกก็ต้องลงไปดำน้ำดูวิวใต้ทะเลกันเลย น้ำทะเลที่นี่ใสมาก ๆ จนมองเห็นปลาน้อยใหญ่ เห็นหอยมือเสือ ปลิงทะเลและแนวปะการังที่มีความสวยงามของโลกใต้ทะเลที่มีความสมบูรณ์ โดยการเดินทางไปเกาะกุลาคิดค่าบริการเพิ่มเรือลำละ 1,000 บาท รวมทั้งไปและกลับ กิจกรรมท่องเที่ยวเกาะกังกาคิดค่าบริการเพิ่มเรือเล็กลำละ 2,500 บาท นั่งเรือประมาณ 2 ชั่วโมงพร้อมเสื้อชูชีพและสนอกเกิ้ล หากต้องการเที่ยว 2-3เกาะ ราคาอยู่ที่ 3,500 บาท ถ้ามีจำนวนคนเยอะเรือลำใหญ่นั่งได้ 8-12 คน ราคาอยู่ที่ 4,000 บาท
ถึงเวลาอาหารมื้อเย็นจัดเต็มกับอาหารทะเลอร่อย ๆ เพราะทะเลที่นี่ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์การทำประมงพื้นบ้านจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย กินอาหารทะเลฝีมือชาวบ้านทั้ง 3 มื้อโดยพี่เจ้าของโฮมสเตย์ นั่งล้อมวงทานอาหารกันแบบง่าย ๆ ในอาหารที่จัดเต็ม อ่าวครามโฮมสเตย์ ค่าบริการคิดราคาคนละ 900 รวมที่พัก 1 คืน และอาหาร 3 มื้อ พร้อมชมการบามหมึกหรือ อวนหมึก จับหมึกเป็น ๆ ที่หน้าบ้านโฮมสเตย์ ใช้เวลาประมาณ 15 นาทีแล้วเอาปลาหมึกมาย่างกินกับน้ำจิ้มซีฟู๊ด
ระหว่างการทานอาหารมื้อค่ำ ก็ได้ฟังเรื่องราวจากพี่เจ้าของโฮมสเตย์ถึงที่มาของชุมชนอ่าวครามที่ทำไมจึงหันมาทำชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวจากเดิมที่เป็นเพียงชุมชนธรรมดาที่มีคนอยู่อาศัย
"เมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมาทรัพยากรทางทะเลมีจำนวนลดน้อยลงไปมาก ปลาหมึก กุ้ง ปู ปลา ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพเหมือน 20 ปีที่ผ่านมา เลยคิดว่าการมาทำโฮมสเตย์ทำอาหารให้นักท่องเที่ยวทานเป็นอีกหนึ่งวิธีที่น่าสนใจ เพราะแค่นำพวกอาหารทะเลไปขายในตลาดไม่พอต่อการดำรงชีพ อีกทั้งประโยนช์ของการมีทรัพยากรเป็นทุนเดิมในการทำการท่องเที่ยว ทำให้มีวัตถุดิบที่มีอยู่แล้วในหมู่บ้านเอามาเพื่อใช้ประกอบอาหารในการรับลองแขกที่จะเข้ามาพัก เพิ่มเติมแหล่งที่มาของรายได้จากการขายสินค้า เป็นการให้บริการด้านการท่องเที่ยวเพิ่มไปด้วย "
จากการให้สัมภาษณ์ของชุมชน เราจะเห็นได้ว่า การท่องเที่ยวโดยชุมชนนั้น สามารถเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยพัฒนาตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ในข้อที่ 1. No Poverty ขจัดความยากจน การท่องเที่ยว สามารถเป็นอีกช่องทางหนึ่งของการสร้างรายได้ให้กับชุมชน นอกเหนือจากอาชีพหลักอย่างอาชีพประมง แล้วมันจะดีมากถ้าหากชุมชนสามารถสร้างความสมดุลของอาชีพหลักและอาชีพเสริม รวมไปถึงการให้บริการการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบเพื่อความยั่งยืนต่อไป
TONKAW: Thamonwan Chalardthoy
The intern from Silpakorn University x SiamRise Travel